วันเสาร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554

Balanced Scorecard

Balanced Scorecard


การนำ 
Balanced Scorecard
มาใช้ในระบบคุณภาพของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยจะเป็นกลไกช่วยให้สามารถควบคุมให้การทำงานเป็นไปตามแผนเชิงกลยุทธ์ที่วางไว้  เพื่อบรรลุตามวัตถุประสงค์และพันธกิจของมหาวิทยาลัย  โดยมีดัชนีวัดผลสำเร็จของการดำเนินงานที่วัดผลในแง่มุมต่างๆ อย่างสมดุลของมุมมองด้านการเงินและด้านที่ไม่ใช่การเงินที่จะช่วยให้มหาวิทยาลัยบริหารงาน และมีการดำเนินงานอย่างมั่นใจได้ว่าจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ตั้งไว้  ในขณะเดียวกันก็จะใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความสามารถของมหาวิทยาลัยในการปฏิบัติภารกิจว่าเป็นไปอย่างมีคุณภาพและบรรลุความคาดหวังของสังคมได้ในระดับใด  ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีหน่วยงานประเมินมาตรฐานการศึกษาใดในประเทศไทยที่กำหนดองค์ประกอบการตรวจสอบคุณภาพจากมุมมองตามวิธีของ BSC แต่มหาวิทยาลัยก็สามารถใช้เพื่อการประกันคุณภาพภายในได้  และน่าจะเป็นการพัฒนาอีกแนวทางหนึ่งด้วย  พบว่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้นำ BSC ไปใช้เพื่อวัดผลสำเร็จและนำมหาวิทยาลัยไปสู่การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลายแห่งแล้ว
Balanced Scorecard

 


Balanced Scorecard (BSC) เป็นเครื่องมือซึ่งเกิดจากแนวความคิดที่ช่วยให้องค์กรในการแปลจากกลยุทธ์ให้เป็นการปฏิบัติ    โดยเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์ ภารกิจ และกลยุทธ์ขององค์กรซึ่งเป็นขั้นของการกำหนดปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จ    และจากนั้นก็เป็นการสร้างดัชนีวัดผลสำเร็จ (Key Performance Indicators) ขึ้นเพื่อเป็นตัวบ่งชี้ถึงเป้าหมายและใช้วัดผลการดำเนินงานในส่วนที่สำคัญต่อกลยุทธ์   จึงถือได้ว่า BSC เป็นระบบการวัดผลการดำเนินงาน  ที่ถ่ายทอดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กรสู่การปฏิบัติ  และสะท้อนการดำเนินงานในมุมมอง 4 ด้านหลัก  คือ ด้านการเงิน  ด้านลูกค้า  ด้านกระบวนการภายใน  และด้านการเรียนรู้และการพัฒนา
·        มุมมองด้านการเงิน
·        มุมมองด้านลูกค้า  เน้นความพึงพอใจของลูกค้า 
·        มุมมองด้านกระบวนการ   เป็นการปรับปรุงพัฒนากระบวนการภายใน 
·        มุมมองด้านการเรียนรู้และการพัฒนา  เน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ  การสร้างเสริมความสามารถของพนักงานและระบบ
        
บริบทของการนำ Balanced Scorecard ไปใช้  





BSC ได้มีการนำมาใช้ในองค์กรธุรกิจต่างๆ เช่น Diageo, Nationwide, Ericson  และ Mobil Oil  และนำมาใช้ในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศแล้วบางแห่ง เช่น Open University, Glasgow Caledonian University, Napier University, University of California  และ  Ohio State University ข้อดีของเครื่องมือนี้ คือ  มีหลักพื้นฐานอยู่บนดัชนีที่แยกตามมุมมองด้านต่างๆ ที่ครบ 4 ด้าน  ซึ่งครอบคลุมสอดคล้องตามพันธกิจ  และเป้าหมาย  ไม่ใช่เพียงพิจารณาที่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น  (เช่น ในการวัดผลธุรกิจในยุคก่อนที่วัดเฉพาะด้านการเงินเพียงด้านเดียว)  ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร  ซึ่งการใช้ดัชนีทางการเงินเพื่อการวัดผลเป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏว่าองค์กรประเภทนี้จะให้ความสำคัญมาก่อน  นอกจากนี้ BSC ยังเป็นความพยายามที่จะแปรให้กลยุทธ์ลงไปสู่การปฏิบัติและนำเสนอดัชนีเพื่อวัดผลการดำเนินงานนั้นๆด้วย
          บริบทในการพัฒนาดัชนี BSC มาใช้นั้น เริ่มขึ้นเพื่อใช้วัดผลสำเร็จเป็นบริบทภายใต้วัฒนธรรมองค์กรธุรกิจ  ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งเน้นกำไรเป็นตัววัดผลสำเร็จทางการเงิน  ดังนี้ SCB จึงได้สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของบริษัทที่มุ่งเน้นกำไร  เนื่องจาก BSC ได้ขยายการวัดผลออกไปสู่ด้านอื่นนอกจากวัดผลเพียงด้านการเงินเท่านั้น
การประยุกต์ใช้ Balanced Scorecard ในมหาวิทยาลัย

ดัชนีวัดผลการดำเนินงานเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นโดยพิจารณาทั้งในระดับมหาวิทยาลัย ระดับคณะ  ระดับภายวิชา  เพื่อที่จะช่วยให้ฝ่ายบริหารสามารถใช้เป็นกลไกเพื่อการบริหารงานของมหาวิทยาลัย  และการบริหารภายในหน่วยงานระดับต่างๆ  สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีก่อนเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ  มหาวิทยาลัยจะต้องกำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์สำหรับองค์การหลักของมหาวิทยาลัยขึ้นมาก่อน  และในการพิจารณาประเมินผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการปฏิบัติงานต่างๆ บรรลุตามที่ตั้งเป้าประสงค์ไว้หรือไม่   บอกได้ว่ามหาวิทยาลัยดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่  และยังสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ว่าสามารถตอบสนองความต้องการตามความคาดหวังของสังคมหรือไม่

สรุป

BSC เป็นเครื่องมือช่วยให้องค์กรสามารถนำปัจจัยหลักทางกลยุทธ์ขององค์กร แปลไปสู่การปฏิบัติ  และเป็นเครื่องมือสำหรับองค์กรในการพิจารณาผลสำเร็จของการทำงานโดยผ่านมุมมองด้านการเงิน  มุมมองลูกค้า  มุมมองกระบวนการภายใน  และมุมมองการเรียนรู้และการพัฒนา   จึงนับเป็นการเชื่อมโยงการวางแผนในระดับบนหรือระดับผู้บริหารซึ่งเน้นการวางแผนเชิงกลยุทธ์  ลงมาสู่ระดับปฏิบัติการ  ในกรณีของมหาวิทยาลัยก็สามารถใช้เป้าหมายตามแผนพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาดัชนีวัดผลสำเร็จตามแนวคิด BSC ในมุมมอง 4 ด้านได้เช่นกัน   ทั้งนี้อาจเป็นการวัดผลสำเร็จขององค์กรภายในเองเท่านั้น  หรืออาจเป็นการเปรียบเทียบกับองค์กรหรือสถาบันอื่นที่สามารถเทียบเคียงเป็น Benchmark  เพื่อการพัฒนาคุณภาพในอีกระดับหนึ่งด้วยก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น